จากอุดมการณ์การทำงานของคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ประสบการณ์ 12 ปี และต่อมาได้ร่วมงานกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางจนถึงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนผันในเรื่องแนวคิดการบริหารบุคคลสมัยใหม่
เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณอายุจึงอุทิศตนทำงาน เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เป็นคนดีและเก่ง เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของประเทศและของโลก เพื่อพัฒนาคนไทยให้สู้ได้ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวาง
ในปี 2539 คณะศิษย์เก่า MIT ได้รวมตัวกันก่อตั้งมูลนิธิ FREE โดยมี ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจาก MIT เป็นประธานมูลนิธิ และในปีเดียวกันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้ว่า “มูลนิธิศึกษาพัฒน์” คุณพารณซึ่งร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิ และคุณแบงกอก เชาว์ขวัญยืน ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Mathematics จาก Cambridge University และระดับปริญญาโทจาก MIT Sloan School of Management เป็นสองคนในคณะผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ได้ร่วมกันรับงานเรื่องการพัฒนาการศึกษาแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อการเรียนการสอน ด้วยความเชื่อที่ว่า MIT มีเทคโนโลยีต่าง ๆ มาจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ จึงได้ประสานงานติดต่อกับ MIT Media Lab เพื่อนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้ชื่อว่า “Constructionism” ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยของ Professor Seymour Papert มาทดลองปรับใช้กับทุกภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมไทย โดยเริ่มต้นที่โรงเรียนก่อน Professor Seymour Papert เป็นสานุศิษย์ของ Professor Jean Piaget ผู้คิดค้นทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructivism ซึ่งในเวลาต่อมา Professor Papert ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่ MIT เมือง Boston รัฐ Massachusetts และได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการเรียนรู้ต่อยอดจากอาจารย์ของท่าน และเรียกทฤษฎีของท่านว่า Constructionism ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนได้พบว่า ถ้านำผู้เรียนตั้งแต่อายุยังน้อยที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน มาชี้ชวนให้เรียนรู้และทำโครงงานร่วมกัน โดยครูเปลี่ยนบทบาทมาเป็น Facilitator คือเป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศในห้องเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ (Conducive to Learning) และบูรณาการด้วยเทคโนโลยี วิชาการ และอื่นๆ เข้าไป จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (learning how to learn) และคิดที่จะคิดต่อไปเองได้ (Thinking about Thinking) คือรู้จักเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) คุณพารณและคุณแบงกอกได้ปรับใช้และขยายผลทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ในสังคมไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือ Lighthouse Project ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ โดยเริ่มขยายผลไปยังภาคชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษา ทั้งโรงเรียนในระบบและการศึกษานอกระบบ โดยเริ่มต้นจากการศึกษานอกระบบก่อน หลังจากความวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่องของคุณพารณและคุณแบงกอกที่ได้เดินทางติดตามผลงานในที่ต่าง ๆ ทำให้พบว่า ข้อจำกัดด้านหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และวิธีการบริหารจัดการ ตลอดจนวิธีคิด (Mindset) ของครูและผู้บริหารส่วนใหญ่ในขณะนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถนำวิธีการ Constructionism ไปขยายผลในโรงเรียนได้ดีเท่าที่ควร คณะผู้บริหารโครงการ Lighthouse Project ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ จึงมีแนวคิดว่า ควรต้องมีโรงเรียนตัวอย่างของตัวเอง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามทฤษฎี Constructionism อย่างเต็มรูปแบบ เริ่มต้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้นจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยบูรณาการด้วยเทคโนโลยี วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นไทย ศีลธรรมจรรยา และภาษาอังกฤษ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฟัง พูด อ่าน เขียน และไวยากรณ์ที่เข้มข้นตามลำดับ จนผู้เรียนเข้าใจและมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเท่า ๆ กับภาษาไทย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตัวอย่างที่จะได้รับประสบการณ์ทางการเรียนรู้ตามวิธีการดังกล่าวอย่างเข้มข้นลึกซึ้งต่อเนื่อง และเป็นไปตามธรรมชาติ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมในการเรียนรู้ขึ้นใหม่ คือมีความกระหายที่จะเรียนรู้ (Passion of Learning) โดยผู้เรียนไม่รู้สึกต่อต้าน และติดเป็นนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ทุกประการ
ในปี 2543 คุณพารณดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ออกนอกระบบราชการ โดยมี ดร.หริส สูตะบุตร ศิษย์เก่า MIT เป็นอุปนายกสภา และคุณแบงกอกเป็นกรรมการสภา ทุกคนได้ร่วมกันเสนอสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาการจัดตั้งโรงเรียนต้นแบบตามแนวคิดข้างต้น สภามหาวิทยาลัยจึงมีมติเห็นควรให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 กรฎาคม 2543 โดยมีสถานะเทียบเท่าภาควิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยและมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ ทำให้การบริหารจัดการองค์กรมีความคล่องตัวสูง และเมื่อดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง จะสามารถพัฒนาให้เกิดนักเรียนและครูพันธุ์ใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ได้ รวมทั้งจะพัฒนาไปเป็นสถาบันการเรียนรู้ (Learning Institute) ที่ทันสมัยต่อไปในอนาคต
นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ จึงเริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอนเป็นปีการศึกษาแรก ดำเนินการสอนแบบ 2 ภาษา (ไทยและอังกฤษ) โดยเป็นโครงการนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือระหว่าง MIT Media Lab มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มูลนิธิศึกษาพัฒน์ และมูลนิธิไทยคม มีวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งพัฒนาเด็กไทยให้เป็นพลเมืองโลกและพลเมืองไทยในคนๆ เดียวกันที่รักษาความเป็นไทยไว้ได้และมี passion of learning สูง ด้วยวิธีการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ซึ่งคิดค้นจากผลงานการวิจัยโดย Professor Seymour Papert แห่ง MIT Media Lab และการบริหารจัดการองค์กรตามหลักการ Learning Organization ซึ่งคิดค้นจากผลงานการวิจัยโดย Peter M. Senge แห่ง MIT Sloan School of Management
Claim listing is the best way to manage and protect your business.
Notifications